MEDEE, MEDEE CMU, เกษียณมีดี, มีดี, เกษียณ, สูงวัย, สูงอายุ, วัยเกษียณ, บ้านใบบุญ, ไตลื้อ, ไทลื้อ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยและสังคมโลก ในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ ยังมีความพยายามรักษาและถ่ายทอดตัวตนของคนในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผ่านสถานที่แห่งหนึ่งในนาม ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ

 

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นทั้งบ้านและสถานที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการศึกษาเรียนรู้ในวัยเกษียณของ ป้าปุก-พรรษา บัวมะลิ ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ขึ้นมาเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

ครั้งยังเป็นครูประจำโรงเรียนบ้านลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ คุณครูพรรษา บัวมะลิ หรือ “ป้าปุก” ได้รับหน้าที่จัดทำหลักสูตรศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นในชื่อว่า ‘เมืองลวง ข่วงไตลื้อ’ โดยระหว่างหาข้อมูลนั้น ป้าปุกพบว่า ยังไม่มีแหล่งเรียนรู้ที่ครบด้านและเหมาะสมสำหรับส่งต่อวัฒนธรรมชุมชนบ้านลวงเหนือให้กับเยาวชนได้อย่างเพียงพอ

“บ้านของเราเนี่ยจริง ๆ แล้วเป็นชาติพันธุ์ไตลื้อ วัฒนธรรมไตลื้อที่เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันมันไม่ค่อยเห็นแล้ว ทำให้เราเห็นคุณค่า เกิดความรัก ความหวงแหนขึ้นมา”

กอปรด้วยพื้นเพครอบครัวของป้าปุกที่สืบเชื้อสายไตลื้อมาหลายรุ่น จึงทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสารตั้งต้นให้ความคิดหนึ่งถูกจุดประกายขึ้นมา ป้าปุกจึงตัดสินใจเกษียณอายุก่อนกำหนด แล้วเริ่มต้นทำบ้านของตนเองให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการรักษา เรียนรู้ และสืบทอด เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมไตลื้อในท้องถิ่นสูญหายไปตามกาลเวลา

 เกษียณมีดี, มีดี,MEDEE, MEDEE CMU, เกษียณ, สูงวัย, สูงอายุ, วัยเกษียณ

เส้นทางในวัยเกษียณของป้าปุกจึงเต็มไปด้วยการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล เสาะหาความรู้ ด้วยความร่วมมือของเหล่า ‘ครูภูมิปัญญา’ ในชุมชนที่มาช่วยส่งต่อความรู้วัฒนธรรมไตลื้อ การเดินทางครั้งนี้จึงทำให้ป้าปุกได้พบกับความสุขที่ตนเองไม่เคยคาดคิด ทั้งการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและคนในชุมชน องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่เคยเกือบเลือนหายได้กลับมาโลดแล่น ถูกบอกเล่าต่อไป และทำให้ชุมชนบ้านลวงเหนือได้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ก็เกิดขึ้น จากความตั้งใจของครูวัยเกษียณที่อยากให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มีแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งต่อความรู้และเกิดการต่อยอดไปสู่โอกาสใหม่ ๆ และยิ่งเวลาผ่านไป พื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ได้เริ่มมีคนมาแวะเวียนหลากหลาย ไม่ว่าจะจากเด็กโรงเรียนอื่นนอกชุมชน หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรมไตลื้อ

เปิดโอกาสให้ป้าปุกต้องแสวงหากำลังคนมาเพิ่ม เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงตัวป้าปุกเองในฐานะผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ฯ  ยังคงต้องใช้เวลาเพื่อสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเอามาพัฒนาพื้นที่แห่งนี้อยู่เสมอ

 เกษียณมีดี, มีดี,MEDEE, MEDEE CMU, เกษียณ, สูงวัย, สูงอายุ, วัยเกษียณ

ป้าปุกจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเกษียณแล้วเกษียณเลย เพียงแค่เปิดโอกาสให้ตัวเองไม่หยุดที่จะค้นหา รวมทั้งใช้ทักษะความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาร่วมด้วย จะช่วยนำพาเราไปพบเจอสิ่งใหม่ในวัยเกษียณก็เป็นได้

“วัยเกษียณเหมือนเป็นเส้นทางชีวิตอีกเส้นทางหนึ่งที่ให้รางวัลกับตัวเอง คือการกลับมามองตัวเอง มองบ้าน มองชุมชนของเรา” ป้าปุกทิ้งท้ายถึงเพื่อนชาวเกษียณ “เราเชื่อว่าทุกคนยังมีไฟอยู่ในตัว ทุกคนจะเห็น เกิดแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อสังคม แล้วชีวิตจะมีความสุขค่ะ”

 _____________________________________________________

เรียบเรียงโดย: สุพรรณนิการ์ เกิดโมฬี

 _____________________________________________________

 

สามารถรับชมเรื่องราวของคุณพรรษา บัวมะลิ อดีตข้าราชการครู ที่เปลี่ยนบ้านของตนเองให้เที่ยวได้ในนามของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใน MEDEE 13 งานยุคใหม่ของผู้สูงวัย และแรงบันดาลใจธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้

#Medee#มีดี#เกษียณมีดี#พลังเกษียณสร้างชาติ#CMUlifelong#SDGs#SDG4#CMUSDG4 #CMUSDGs