วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง หรือ Mae ing shibori ได้เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม 2562 ส่งผลให้ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จ.พะเยา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของจังหวัดพะเยาได้รับความเสียหายอย่างหนัก ชุมชนแม่อิงจึงต้องหาอาชีพเสริมนอกเหนือจากการเกษตรอย่างเร่งด่วน ชุมชนตำบลภูกามยาวจึงเลือกทำอาชีพช่างผ้ามัดย้อมชิโบริจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะในท้องถิ่นมีปราชญ์ด้านนี้อยู่แล้วนั่นก็คือ “พี่เบียร์-เอกรินทร์ ลัทธศักย์ศิริ” ผู้ที่มีความรู้เรื่องการออกแบบลวดลายด้วยการมัดย้อมสี โดยเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องการมัดย้อมผ้าที่ต่างประเทศ นอกจากนี้พี่เบียร์เคยผ่านการอบรมเรื่องผ้ามัดย้อมจากศิลปินผู้สร้างารรค์ผลงานหัตถกรรมผ้ามัดย้อมชิโบริแบบญี่ปุ่น

 

 

เดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ใช้สีสังเคราะห์ในการย้อมผ้า ซึ่งทำให้ผ้าที่ย้อมนั้นมีสีสดใส ฉูดฉาดและเป็นที่นิยม พอใช้ไปนาน ๆ พี่เบียร์จึงเป็นห่วงว่าจะเกิดผลเสียกับสุขภาพของสมาชิกในกลุ่มแถมอาจเกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อม พี่เบียร์จึงนำดอกดาวเรืองที่ชุมชนปลูกไว้มาทำสีย้อมธรรมชาติตามภูมิปัญญาดั้งเดิมจากทางล้านนาที่นำดอกไม้มาทำเป็นสีย้อมผ้าในอดีต พอลองย้อมไปหลาย ๆ รอบ ผลลัพธ์ที่ได้มานั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ

 

 

พี่เบียร์จึงเข้ารับการปรึกษาพร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นอกจากสีธรรมชาติที่ได้จากดอกดาวเรืองแล้ว ชุมชนแม่อิงก็ได้ทำการค้นคว้าสีเฉดอื่น ๆ มาใช้โดยเน้นเฉพาะสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ อาทิ สีเทาที่ได้มาจากเปลือกจากต้นยูคาลิปตัสที หรือแม้แต่สีแดงที่ได้มาจากการสะกัดแก่นไม้ฝาง ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิงนำมาต่อยอดทำสินค้าได้อีกหลายชนิด เช่น กระเป๋า ผ้าถุง

 

วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ยังถูกสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำอำเภอภูกามยาว อันเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้กับ ชุมชนและคนภายนอก รวมไปถึงเด็กเด็กรุ่นใหม่ ให้ได้มาเรียนรู้การย้อมผ้าแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ โดยมีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอภูกามยาว สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอภูกามยาว และสำนักงานเกษตรอำเภอภูกามยาว

 

 

นอกจากนี้ยังได้ความอนุเคราะห์จากทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติกันน้ำและป้องกันแสง UV เพื่อนำมาต่อยอดใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของวิสาหกิจชุมชนได้ในอนาคต

 

“ในทุกวิกฤตยังมีโอกาสตัวผมเองก็อยากจะส่งกำลังใจให้กับทุกคน เมื่อเราทำผลงานด้วยความตั้งใจเราก็จะได้รับโอกาสสร้างชื่อเสียง สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเรา”

 

 

พี่เบียร์ได้ฝากข้อคิดที่สามารถใช้ได้จริงกับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้พี่เบียร์ยังยืนคำเดิมเสมอว่า “ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” เมื่อเราเริ่มลงมือทำโอกาสก็ดี ๆ ก็จะเวียนเข้ามาในที่สุด

 

_____________________________________________________

เรื่อง: ธนกฤต กองพล