โลกกำลังเดินไปข้างหน้าอยู่ทุกขณะ ผู้คนต่างใช้สอยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะก้าวให้ทันโลกของตัวเองโดยทำลายลงไปโดยที่ไม่รู้ตัว แต่หากเราลองหยุดพักลงสักนิด แล้วกลับมาฉุกคิดว่ายังมีอีกหลากวิธีที่อยู่ได้โดยไม่ต้องตามกระแส ไม่ทำลายโลก ไม่ทำร้ายใคร แถมมีความสุขได้อย่างยั่งยืน ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน

 

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาคือการรวมตัวของกลุ่มคนที่แสวงหาวิถีชีวิตชุมชนเกษตรที่ทุกคนจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ใน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่ง น้าเรือง-พนมกร นามจันทร์ คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาได้มาเล่าถึงเรื่องราวของการหันกลับมาสู่เกษตรอินทรีย์ในโลกสมัยใหม่

 

“แต่เดิมคนในตำบลแม่ทาอยู่กันแบบพี่น้อง ‘พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้’ ไปมาหาสู่ ปลูกพืชผักหลากหลายไว้กิน ไว้แบ่งปันกัน แต่พอมาถึงช่วงหนึ่งคนก็เริ่มปลูกเพื่อขายเพราะหวังจะได้เงิน รู้จักการใช้ปุ๋ยใช้ยา จนทำไประยะหนึ่งก็เกิดปัญหาขึ้น พืชผักก็ต้องไปซื้อมา สัตว์ในแหล่งน้ำก็เริ่มตาย เริ่มเป็นโรค”

 

 

 

เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้นในชุมชน ทุกคนจึงได้มารวมตัวกันเพื่อหาทางออกและหันกลับไปมองวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมที่ลดการใช้สารเคมี ปลูกพืชตามฤดูกาล หมุนเวียนเปลี่ยนผสมให้มีความหลากหลาย และคนในชุมชนสามารถเก็บไว้กินหรือขายตามต้องการได้

 

จากที่เริ่มต้นต่างก็ไม่มีประสบการณ์ ลองผิดลองถูกกันไป แต่ก็ไม่ท้อ จึงสามารถผ่านมาได้และรวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืน มีการร่วมไม้ร่วมมือจากเพื่อนบ้านต่างชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนทำให้เกิดตลาดผักอินทรีย์ ที่นอกจากจะมีไว้เพื่อค้าขายแล้วยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผักอินทรีย์และผักพื้นบ้านระหว่างคนในชุมชนกับคนภายนอกที่แวะเวียนมา

 

 

 

แต่สิ่งนี้จะยั่งยืนได้ ต้องมีคนมาสานต่อ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใกล้ตัวของชุมชนนี้คือลูกหลานของคนภายในชุมชนแม่ทานั่นเอง การส่งต่อความรู้เกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น

 

“การจะให้ลูกหลานกลับมาสืบทอด ถ้าเอาเงินมาเป็นตัวชี้วัดจะทำยาก เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเอาใจเขาเข้ามารักชุมชน ใจที่อยากจะปกป้องชุมชน”

นี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยซื้อใจคนรุ่นใหม่ที่น้าเรืองนำมาใช้

 

และเราต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของเรากับเขาต่างกัน บางครั้งจะให้ไปบอกตรง ๆ ว่าแบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดีคงเป็นเรื่องยาก อย่างน้อยเราต้องมีการทดลอง ให้เขาได้ศึกษาเอง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

 

 

จึงเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างวัย ประสบการณ์ที่สั่งสมมานานของคนรุ่นเก๋า กับความรู้และเทคโนโลยีจากคนรุ่นใหม่ ร่วมคิดร่วมไขปัญหา สู่การทดลองใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาให้เกษตรอินทรีย์ยังอยู่ต่อไปได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และคนแม่ทารุ่นใหม่ใจรักเกษตรอินทรีย์ที่รวมตัวกันในชื่อ ‘Maetha Organic’ ก็ได้เข้ามาสานต่อ โดยมีชาวเกษตรอินทรีย์แม่ทาวัยเกษียณคอยสนับสนุน แนะนำ และให้คำปรึกษา ไม่ได้เกษียณตัวเองจากงานที่พวกเขาก่อร่างสร้างมากับมือไปอย่างสิ้นเชิง

 

“มันไม่มีหรอกครับคำว่า เกษียณ แทนที่เราจะนั่งอยู่เฉย ๆ เราเอาความคิดนั้นมาลงดินดีกว่า เอามาปลูกเป็นต้นอะไรก็ได้ ยิ่งเราเห็นต้นไม้เติบโตสวยงาม เราก็ภูมิใจ” น้าเรืองส่งกำลังใจให้ชาวเกษียณพร้อมกับแนวคิดที่น่าสนใจ

 

“การรวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังไม่ได้แก่ ไม่ได้ตกงาน ยังมีงานให้เราทำอีกเยอะ ตราบใดที่เรามีแรง มีกำลังอยู่ก็สามารถทำได้”

 

 _____________________________________________________

เรื่อง: สุพรรณนิการ์ เกิดโมฬี

_____________________________________________________

เรื่องราวประสบการณ์ของน้าเรือง-พนมกร นามจันทร์ กับการส่งต่อความรู้เกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ สามารถเรียนรู้ได้ใน MEDEE 13 งานยุคใหม่ของผู้สูงวัย และแรงบันดาลใจธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้

#Medee#มีดี#เกษียณมีดี#พลังเกษียณสร้างชาติ#CMUlifelong#SDGs#SDG4#CMUSDG4#CMUSDGs