เรื่องราวอีกมุมหนึ่งของ “ป้าจิ๋ม” หรือ คุณเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ที่มีบทบาทภาคประชาสังคมเชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับการตัดสินใจเกษียณตัวเองก่อนกำหนดจากครูมัธยมฯ สู่การเป็นผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม

 

ณ ร้านสินค้าหัตถกรรมขนาด 1 คูหาบนย่านถนนช้างม่อย มีป้ายเล็ก ๆ บอกชื่อว่า “เชียงใหม่ ฮาร์ท” (Chiang Mai Heart) ที่แปลว่า “หัวใจของเชียงใหม่” ตามคำบอกกล่าวของ คุณเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง หรือ “ป้าจิ๋ม” คนมีดีผู้มีบทบาทภาคประชาสังคมเชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับการตัดสินใจเกษียณตัวเองก่อนกำหนด จากครูโรงเรียนมัธยมมาสู่การเป็นผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรมและเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้

 

หัวใจของเชียงใหม่

“งานศิลปะ หัตถกรรม ที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นเองคือ หัวใจของเชียงใหม่” ป้าจิ๋มเล่าถึงความหมายของชื่อสินค้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อออกขายตามงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ ที่ใช้ผ้าทอมือจากคนรู้จักในอำเภอจอมทอง สินค้าส่วนใหญ่ในร้านจึงเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

“บ้านเรามีวัตถุดิบหลากหลายที่สามารถหยิบจับมาใช้ได้ ตัวป้าก็มีฝีมือในการเย็บการออกแบบ โดยเอางานฝีมือเหล่านี้เข้ามาเป็นงานเสริมของตัวเอง ทำมาเรื่อย ๆ และพบว่าอาชีพอิสระนี้ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และนอกจากนั้นเราก็มีเวลาที่จะออกไปทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ด้วย จึงเลือกที่จะลาออกจากราชการในช่วงนั้น”

เมื่อตัดสินใจเกษียณตัวเองเปลี่ยนวิถีชีวิตจากครูโรงเรียนมัธยมศึกษามาสู่แม่ค้าขายสินค้าหัตถกรรม จึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของตัวเองอย่างมาก ป้าจิ๋มต้องฝึกฝนการนำเสนอสินค้าหรือสิ่งที่ตนเองทำเพราะ “หากไม่พูดหรือนำเสนอสินค้า เราก็อยู่ไม่ได้ ส่งผลให้เราเปลี่ยนนิสัยและวิธีคิดต่างออกไปจากเดิม”

 

ออกแบบเอง ทำเอง

สินค้าต่าง ๆ เราออกแบบเอง ทำเอง” เป็นคำยืนยันถึงลักษณะผลงานของป้าจิ๋ม และมีผลงานเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จนได้รับคัดเลือกไปโปรโมตสินค้าท้องถิ่นไทยในต่างประเทศ “ทั้งเคปทาวน์ แอฟริกาใต้, ตุรกี, หรือประเทศต่าง ๆ ในยุโรป” ป้าจิ๋มย้อนความจำเกี่ยวกับประเทศที่เคยไปเยี่ยมเยือน จากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2553 จึงหันมาเปิดร้านค้าเล็ก ๆ บนย่านช้างม่อย เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้ลูกค้าเดิมสามารถติดต่อกับป้าจิ๋มได้สะดวกขึ้น

เหตุที่ตั้งร้านแห่งนี้ ป้าจิ๋มยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า “สินค้าที่ขายในญี่ปุ่นจะมีความเป็นท้องถิ่นสูง เมื่อไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เกิดความตื่นเต้น ที่จะพบสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องไปซื้อในท้องถิ่นนั้นด้วย ทำให้สินค้ามีความหมายและคุณค่า” เช่นเดียวกับสินค้าของป้าจิ๋มที่กำหนดแนวทางไว้คล้ายกัน

“สินค้าของเรามีขายอยู่ที่นี่ ถ้าจะซื้อก็ต้องมาซื้อที่นี่ ก็เลยพอทำได้แบบเย็บเองขายเอง มีลูกค้าบางกลุ่มที่ชอบสินค้าในลักษณะนี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่น อย่างเช่นที่รองแก้ว คนญี่ปุ่นจะชอบมาก สั่งมาเยอะแล้วเราทำตามที่สั่ง จากนั้นเขาจะมารับเอง”

“ที่จริงคนบ้านเรามีฝีมือ แต่บางคนขายถูกโดยลืมคิดค่าแรงตัวเองด้วย ส่งผลให้ทำแล้วไม่อาจยืนระยะอยู่ได้ยาว หรือเมื่อขายราคาต่ำและมีคนสั่งเยอะ ๆ แล้วทำไม่ทัน ก็จะกลายมาเป็นปัญหาอีก” ป้าจิ๋มจึงเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ และไม่ฝืนทำในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ

 

“มีดี” ด้วยใจที่ยังไม่แก่

“หากเราไม่ทำอะไรบ้าง ร่างกายมันจะฝ่อ จะมีอาการเจ็บป่วย หากไม่ดูแลตัวเองหรือเสาะหาสิ่งที่จะเสริมความรู้ของเรา ก็จะทำให้เราอยู่ยากมากขึ้น”

“เกษียณ หรือไม่ จึงอยู่ที่ใจ ถ้าใจเราสู้แม้ว่าอายุ 70 หรือ 80 เรายังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีก” แม้ป้าจิ๋มจะอายุเกิน 60 ปีที่เรียกว่าวัยเกษียณแล้ว แต่ก็ยืนยันว่ามีแรงที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่นอยู่ โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนตัวเองมากจนเกินไป พร้อมทั้งเสาะหาและเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเองไปเรื่อย ๆ ดังเช่นการเดินทางของของ “เชียงใหม่ ฮาร์ท” ที่ยังคงก้าวต่อไป

“แม้ว่าจะมีอายุอยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่ถ้ายังทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้อยู่ จะยิ่งทำให้เราแข็งแรง หากมัวแต่คิดว่าเราแก่แล้ว จะทำให้เราแก่แล้วแก่เลย ลองเปลี่ยนมาคิดว่าสิ่งนั้นเรายังทำได้อยู่ สิ่งนี้เรายังทำประโยชน์ได้อยู่ การเปลี่ยนวิธีคิดนี้จะทำให้ใจเราไม่ไปตามอายุ”

_____________________________________________________

เรื่อง: ทศพล ศรีนุช
ภาพ: พงศกร เฉลิมชุติเดช

_____________________________________________________

#Medee #มีดี #เกษียณมีดี#พลังเกษียณสร้างชาติ#CMUlifelong#SDGs#SDG4#CMUSDG4#CMUSDGs