ย้อนกลับ
วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต ได้รับคัดเลือกให้เป็น องค์กรเครือข่ายดีเด่นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเครือข่ายด้านผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2566
7 มีนาคม 2566 เวลา 13:53:00 น.
179 การรับชม

วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต ได้รับคัดเลือกให้เป็น องค์กรเครือข่ายดีเด่นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเครือข่ายด้านผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2566 จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ จากผลงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ โครงการ “เกษียณมีดี” หรือ “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย” สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นองค์กรชั้นนำในการส่งเสริมและพัฒนาสังคมไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
 
โครงการ “เกษียณมีดี” หรือ “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย” เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่สรรค์สร้างขึ้นโดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์มุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในกลุ่มคนเกษียณหรือผู้สูงวัยที่ยังคงมีศักยภาพผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้บนแอพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นระบบการติดต่อสื่อสารที่ผู้สูงวัยคุ้นเคยมากที่สุด พร้อมระบบสนับสนุน เช่น ชุมชนออนไลน์กลุ่มเฟซบุ๊ก “มีดี: ชุมชนคนมีดี” และกลุ่ม Line Open Chat สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข่าวสารระหว่างสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ พร้อมพื้นที่ทดลองขายออนไลน์บนเฟซบุ๊ก “มีดี: ตลาดคนมีดี” ที่เปิดให้ผู้เรียนนำสินค้ามาวางขายเพื่อสร้างรายได้
 
ปัจจุบัน “มีดี” ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 เพื่อผลักดัน “มีดี” ให้เป็นที่แพร่หลายในระดับประเทศ โดยจะมีการขยายฐานการดำเนินกิจกรรมไปยังภูมิภาคอื่น เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งแก่โครงการและสร้างเสริมให้เกิด “วิทยากรความรู้มีดี” ทั่วทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทย เพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้ “มีดี” เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนชีวิตของผู้สูงวัยในสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
 
ระบบนิเวศทางการศึกษา “มีดี” ไม่ได้มุ่งเป้าเพียงแค่ให้ผู้สูงวัยได้เข้าถึงการเรียนรู้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายใหญ่คือการนำเอาความรู้และทักษะไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้สูงวัยในสังคมไทยให้สามารถพึ่งพาตนเอง ลดการเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวหรือของภาครัฐ นอกจากนี้ กุศโลบายของโครงการที่พยายามผนวกพลังของคนรุ่นใหม่ในชุมชน ก็จะเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ระหว่างวัย นำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้นในอนาคต
AUTHOR : วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต